top of page

วันนี้ (22 มี.ค.) เวลา 16.00 น. ที่ชั้น 2 ห้องรับรอง กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมแถลงผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังให้มีการตรวจสอบเพิ่มบางประเด็น โดยก่อนการแถลงข่าว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
       
       พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงสรุปผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ค่าหัวคิว 2.การจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.การใช้งบประมาณ โดยใน 3 ประเด็นหลักจะมีประเด็นปลีกย่อย ระบุเกี่ยวกับค่าหัวคิวซึ่งมีคนมาร้องเรียนก็เริ่มตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีหัวคิวตรงไหนอย่างไร ต่อมาก็มีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และ การใช้งบประมาณ จึงสั่งให้ตรวจสอบและยึดตามกฎหมาย
       
       นายประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเฉพาะเรื่องการหักค่าหัวคิว จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานพร้อมทั้งสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน เท่าที่ได้เอกสารหลักฐานทั้งหมดสรุปได้ว่า มีการจ่ายเงินจริงระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นการให้ค่าตอบแทนการให้งานกัน เมื่อ ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกไปถึงจำนวนเงิน ซึ่งมีวงเงิน 6-7 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง พอไปดูงานค่าจ้างของแต่ละราย ราคาก็เป็นไปตามท้องตลาด ซึ่งเบื้องต้นไม่พบข้อพิรุธอะไร เพราะสามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ กรณีที่มีคนหางานมาให้
       
       ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สตง. ได้ตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งบประมาณ ซึ่งพบปัญหา 5 ประเด็น 1.เงินบริจาค ที่มีคนเป็นห่วงว่าจะเป็นการใช้จ่ายไม่ถูกต้องหรือไม่ 2.การจัดซื้อจัดจ้าง ว่าเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ 3.เนื้องาน ว่าครบด้านบริหารและเป็นไปตามลักษณะเนื้อโลหะที่นำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ 4.ตรวจสอบว่ามีการหักหัวคิวหรือไม่ และ 5.เงินกองทุนมีการบริหารจัดการอย่างไร ทั้งนี้ หลังจากตรวจสอบได้ข้อสรุปว่าเรื่องรับเงินบริจาคใช้บัญชีกองทุนสวัสดิการกองทัพบก แต่จำนวนเงินที่เข้าบัญชีแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนเงินบริจาคอยู่ในบัญชีต่างหากไม่ได้ปะปนกับเงินสวัสดิการกองทัพบก ซึ่งมี 6 ธนาคารที่เปิดรับเงินบริจาคเข้าบัญชีแต่ปัจจุบันได้ปิดเหลือเพียง 1 บัญชีแล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาเพราะมีการบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างถูกครบถ้วนมาตลอด
       
       นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเมื่อเกิดประเด็นขึ้นมาทางกองทัพก็ได้ปิดบัญชีและได้สรุปตัวเลขที่บริจาคมาทั้งหมด ซึ่ง สตง.ได้ถอดเทปว่าใครมีการแสดงตัวในการบริจาคบ้าง โดยตัวเลขทั้งหมดมีการรับผ่านบัญชีเป็นจังหวะเวลาที่มีปัญหาได้ตัวเลขทั้งหมด 733 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท โดยมีทั้งค่าองค์พระประมาณ 318 ล้านบาท และค่าจัดทำเหรียญ 105 ล้านบาท ซึ่งมียอดเงินคงเหลือ 140 ล้านบาทเศษ และยืนยันว่ามีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ ส่วนงบประมาณกลางอีก 63 ล้านบาท ทำเกี่ยวกับ 5 โครงการซึ่งทำไปแล้ว 4 โครงการ เหลือ 9 ล้านบาท อีก 1 โครงการ ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ นอกจากนี้ ยังมีเงินของกองทัพบกที่นำมาใช้ทำรั้วในพื้นที่อุทยานฯทั้งหมด 27 ล้านบาท
       
       “ยังมีผู้บริจาคเป็นสิ่งของ เช่น วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทางกองทัพได้เบิกเงินในส่วนนี้มาใช้เป็นค่าแรง ค่าน้ำมัน และค่าเครื่องจักร ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากผู้มีจิตศรัทธา ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีการซื้อต้นไม้ในราคาที่แพงเกินจริง ซึ่งจากการตรวจสอบก็ไม่พบ เป็นแต่เพียงต้นไม้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมา ซึ่งมีการคิดเพียงแค่ค่าแรงกับค่าน้ำมัน เป็นเงิน 4 ล้านบาท ส่วนการโยกย้ายต้นไม้เข้ามาปลูกยังพื้นที่ของอุทยาน ทางผู้บริจาคเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และก็มีการนำต้นไม้ไปขาย เพื่อจะได้หารายได้เพิ่มเติม” นายพิศิษฐ์ กล่าว
       
       นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า เราตรวจสอบในข้อเท็จจริงและการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ โดย 2 สัญญาไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบราชการ และเนื้องานหรือเนื้อโลหะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะสมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องมีผิวขรุขระบ้าง จึงไม่ข้อสังเกตอะไรในประเด็นนี้ ส่วนวัสดุจากตัวองค์พระ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงมีเอกสารการนำเข้าอย่างถูกต้อง และราคากลางก็ยังเป็นไปตามท้องตลาด โดย สตง. ได้ขอขมาองค์พระทั้ง 7 ก่อนจะตัดชิ้นส่วนโลหะที่องค์พระ เพื่อส่งไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบจากทราบว่าเป็นไปตามเอกสารหลักฐานทั้งหมด และมีคุณภาพ จึงยืนยันว่าไม่มีข้อสงสัย
       
       ทั้งนี้ การหักค่าหัวคิวทั้งจากหลักฐานทางการเงินและสอบปากคำของ 5 โรงหล่อ ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่ปรึกษา เพื่อให้ได้งานนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตรงกันว่า มีการจ่ายค่าจ้างให้กับ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ “อุ๊ กรุงสยาม” 7 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่ปรึกษา และจากการตรวจสอบประวัติทราบว่าเป็นเจ้าของโรงหล่อและมีฐานะทางสังคม
       
       “ผลงานที่ผ่านมามีการสร้างหลวงปู่ทวด ขนาดหน้าตักกว้าง 24 เมตร บนถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เงินจากการเป็นที่ปรึกษาของ 5 โรงหล่อ ทยอยจ่ายเป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยเจ้าตัวยืนยันว่ามีสิทธิเนื่องจากมีหน้าที่คอยแก้ปัญหาหน้างาน ต่อมา เซียนอุ๊ได้นำเงิน 20 ล้านบาท มาบริจาคคืนเป็นเช็ค 5 ฉบับจำนวน 20 ล้านบาท ให้มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในนาม 5 โรงหล่อ ซึ่งมีเอกสารการออกใบเสร็จว่าเซียนอุ๊ได้มาบริจาคจริง” ผู้ว่าการ สตง.กล่าว
       
       นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางมูลนิธิสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์มีเงินในบัญชี ณ ขณะนี้ 108 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งทาง สตง.ได้ตรวจสอบภาพรวมโดยทั้งหมดแล้วเท่าที่ดูไม่มีการตกแต่งบัญชี ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตที่เอาเงินบริจาคมาคืนหน่วยงานราชการ แต่เป็นการเงินมาบริจาคด้วยความสมัครใจ กรณีนี้เอกชนจึงไม่ผิด ส่วนประเด็นที่ระบุว่าเงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เนื่องจากตามระเบียบกองทัพมีการตรวจสอบบัญชี และภายในขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ทรัพย์สินอุทยานยังเป็นของทรัพย์สมบัติของราชการ ยังไม่ได้โอนให้กับมูลนิธิฯ 

© 2023 by Luxury Yacht Charter. Proudly created with Wix.com

bottom of page